แนวคิดและความหมาย

   แนวคิดอันเป็นพื้นฐานของปรัชญาอินเดีย
   แนวคิดอันเป็นพื้นฐานของปรัชญาอินเดียนั้น อาจจะมาจากหลายแหล่ง นักปราชญ์ทั้งหลายพยายามที่จะค้นหาจุดอันเป็นต้นกำเนิดหรือที่มาของปรัชญาอินเดียว่ามาจากที่ใด แต่ยังค้นหาหลักฐานพอเป็นสิ่งอ้างอิงได้ไม่มากนัก จากการศึกษาของผู้ที่สนใจเกี่ยวกับความเป็นมาของปรัชญาอินเดีย ได้ให้ทัศนะไว้หลายประการ ซึ่งพอจะนำมากล่าวไว้ในที่นี้คือ พื้นฐานของแนวความคิดที่กลายมาเป็นปรัชญาอินเดียที่เป็นระบบ กล่าวโดยเหตุผลกว้างๆได้ 2 แนวทาง คือ
   1.แนวความคิดที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระเวท
   2.แนวความคิดที่อยู่นอกแนวทางของคัมภีร์พระเวท
   กล่าวกันว่านับตั้งแต่เริ่มแรกของปรัชญาอินเดีย คัมภีร์พระเวทถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น หรือจุดกำเนิดแห่งความรู้ทั้งปวง เพราะนับระยะเวลาก่อนยุคคัมภีร์พระเวทแล้วความรู้ต่างๆยังคลุมเครือไม่ปรากฏชัดเจน ซึ่งเป็นเพราะยังไม่มีหลักฐานที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรหรือเรียกว่ายุคก่อนคัมภีร์พระเวทหรือยุคก่อนประวัติศาสตร์ก็คงไม่ผิดไปจากความจริงมากนัก ต่อมาเมื่อมีคัมภีร์พระเวทปรากฏขึ้นจึงปรากฏเป็นยุคพระเวทหรือยุคประวัติศาสตร์ เพราะคัมภีร์พระเวทเป็นคัมภีร์ที่รวบรวมเอาศาสตร์ต่างๆโดยการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความรู้ เช่น เป็นคัมภีร์แห่งประวัติศาสตร์ของอินเดีย เป็นคัมภีร์แห่ศาสนา ปรัชญา วรรณคดี สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ กฎหมาย ฯลฯ
   ในด้านปรัชญา แนวความคิดในคัมภีร์พระเวทเป็นแนวความคิดขั้นพื้นฐาน ซึ่งปูทางให้เกิดแนวความคิดทางปรัชญาและศาสนาให้กับอินเดียในกาลต่อมา เช่น ลัทธิภักดี การบำเพ็ญเพียรในรูปแบบต่างๆของบรรดาฤาษี ผู้ต้องการแสวงหาทั้งสัจธรรมและวิธีการหลุดพ้นทั้งปวง อิทธิพลของแนวความคิดที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระเวท เป็นเหตุให้มีนักคิดได้นำไปเป็นพื้นฐานของการวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อวิพากษ์วิจารณ์แล้วอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย การเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยด้วยนี่เองได้กลายมาเป็นผลพวงแตกสาขาออกไปเป็นสำนักปรัชญาหลายสำนึก เช่น การค้นหาความจริงเกี่ยวกับสิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่เป็นความแท้จริงที่เรียกว่า องค์สัมบูรณ์ ตลอดถึงการสอบสวนหาความจริงเกี่ยวกับตัวของมนุษย์เองหรือการวิเคราะห์ถึงการกระทำของมนุษย์ว่าดีหรือชั่ว ถูกหรือผิด เป็นต้น คัมภีร์พระเวทจึงได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของปรัชญาและศาสนาทั้งหมดของอินเดีย ซึ่งได้วิวัฒนาการต่อมาตามลำดับจนถึงปัจจุบัน
   ความหมายและขอบเขตของปรัชญาอินเดีย
   คำว่า ปรัชญาอินเดีย นี้ มีคนทั่วไปจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะชาวตะวันตกเข้าใจว่าเป็นปรัชญาฮินดูเท่านั้น สาเหตุที่เข้าใจเช่นนั้นก็เพราะว่าชาวอินเดียในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดูหากความเข้าใจในคำว่า ฮินดู ว่าหมายถึง ศาสนิกชนที่มีความเชื่อเฉพาะศาสนาฮินดูเท่านั้น ความเข้าใจดังกล่าวก็ย่อมจะผิดไปจากความหมายที่แท้จริงได้
   ความจริง คำว่า ปรัชญาอินเดีย” มีความหมายกว้าง คือหมายถึงทัศนะทางปรัชญาของนักคิดของอินเดียทั้งหมด ทั้งที่เป็นนักคิดในสมัยโบราณหรือสมัยใหม่ ทั้งที่นับถือศาสนาฮินดู และนับถือศาสนาอื่นๆ อย่างไรก็ดี แม้นักคิดหรือนักปรัชญาฮินดูในสมัยโบราณ ซึ่งเป็นพวกที่นิยมนับถือแบบเก่าๆ การคิดการเขียนของท่านเหล่านั้นก็เป็นแบบสรรพทัศนะ คือพยายามที่จะผนวกเอาทัศนะทั้งหลายทางด้านปรัชญาของทุกลัทธิมาไว้ในที่เดียวกัน เราจึงได้พบทัศนะต่างๆ หลากหลายของลัทธิสำนักนั้นๆ เช่น ลัทธิที่นับถือพระเจ้า ลัทธิวัตถุนินม และกลุ่มนักคิดหัวก้าวหน้าอื่นๆ เป็นต้นว่า ปรัชญาพุทธ ปรัชญาเชนหรือไชนะเป็นต้น

   ปรัชญาอินเดียสมัยโบราณ เป็นวิชาหลัก เป็นวิชาที่สำคัญ ไม่เป็นส่วนประกอบของวิชาใดๆ ไม่ว่าด้านวิทยาศาสตร์หรือศิลปะศาสตร์ ต่างกับปรัชญาในแถบตะวันตก ซึ่งแม้จะอยู่ในระยะรุ่งเรืองของสมัยแรก เช่น ในระยะของเพลโต้และอริสโตเติ้ล วิชาปรัชญาเป็นวิชาที่ไปสนับสนุนวิชาอื่นๆ เช่น วิชาการปกครอง วิชาจริยศาสตร์ ในสมัยกลางของปรัชญาตะวันตก นักปรัชญาใช้ปรัชญามาสนับสนุนวิชาเทววิทยา ในสมัยศตวรรษที่ 19 นักปรัชญาตะวันตกก็นำเอาวิชาปรัชญามาประยุกต์ใช้กับวิชาสาขาอื่นๆ เช่น วิชาประวัติศาสตร์ การเมืองและสังคมวิทยา ตรงกันข้ามกับในอินเดียวิชาปรัชญาเป็นศาสตร์ที่ศาสตร์อื่นแสวงหาเพื่อเป็นแนวทางในการค้นคว้า หากวิชาใดปราศจากซึ่งปรัชญา วิชานั้นจะดูเหมือนกับการขาดเสียซึ่งลักษณะของบ่อเกิดแห่งปรัชญา


ที่มา : http://www.youtube.com/watch?v=8I9hgAueDiE

ที่มา : ทองหล่อ วงษ์ธรรมา.ปรัชาอินเดีย.กรุงเทพฯ:โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮาส์ , 2535

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น